การใช้กรรไกร เป็นกิจกรรมอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแน่วแน่และตั้งใจไปพร้อมๆ กับการใช้มือและตาให้ประสานสัมพันธ์กัน ที่สำคัญยังช่วยฝึกกล้ามเนื้อมือเด็กให้สามารถใช้กรรไกรได้อย่างคล่องแคล่ว และฝึกการบังคับข้อมือให้สามารถตัดตามรอยปะตามเส้นตรง เส้นแนวนอน แนวตั้ง ทรงกลม ซิกแซก โค้ง หรือการใช้กรรไกรตามที่กำหนดได้อย่างต้องการ

การใช้กรรไกร สำหรับเด็ก

เด็กในช่วงอายุ 3-6 ปี ถือเป็นช่วงที่อยู่ในวัยของการเติบโตและมีการพัฒนาการเรียนรู้ด้านต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ผู้ปกครองและคุณครูจึงมีหน้าที่ในการช่วยกันดูแลและสังเกตพัฒนาการของเด็ก เพื่อส่งเสริมและฝึกฝนให้เด็กสามารถเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยเฉพาะการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ที่เป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้เด็กสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างคล่องแคล่ว ไม่ว่าจะเป็น การติดกระดุม ล้างหน้าแปรงฟัน การใช้กรรไกร หรือการขีดเขียน ฯลฯ ผู้ปกครองและคุณครูสามารถสนับสนุนและส่งเสริมเด็กด้วยการหากิจกรรมที่มีส่วนช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อมือมาให้เด็กได้ลองทำ

กิจกรรมการฝึกทักษะการใช้กรรไกร

  • อนุบาล 1 (อายุ 3-4 ปี)

เด็กในวัยนี้เป็นวัยแห่งการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาของกล้ามเนื้อมือ เด็กอาจจะยังไม่สามารถบังคับกล้ามเนื้อมือไปในทิศทางต่างๆ ได้ ผู้ปกครองและคุณครูสามารถช่วยส่งเสริมและพัฒนากล้ามเนื้อมือให้กับเด็กได้ โดยให้เด็กฝึกการใช้กรรไกร (ผู้ปกครองและคุณครูควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด) คือให้เด็กใช้กรรไกรตัดกระดาษให้ขาดเป็นสองท่อน เพียงเท่านี้ก็เป็นการฝึกประสาทสัมผัส ตา มือ ให้เด็กในวัยนี้ได้แล้ว (แต่ถ้าเด็กๆ คนไหนมีความพร้อมสามารถเพิ่มระดับความยาก-ง่ายได้ตามความเหมาะสม)

ก่อนเริ่มกิจกรรมการใช้กรรไกรตัดกระดาษ ให้ผู้ปกครองและคุณครูสาธิตวิธีการจับกรรไกรให้กับเด็กก่อน วิธีการจับกรรไกร ให้สอดนิ้วหัวแม่มือเข้าไปในช่องขนาดเล็กของกรรไกร สอดนิ้วชี้กับนิ้วกลางเข้าไปในช่องที่มีขนาดใหญ่กว่า หากช่องขนาดใหญ่นั้นมีที่ว่างมากพอให้เด็กใส่นิ้วนางเข้าไปด้วย และสอนอย่างระมัดระวัง

  • อนุบาล 2 (อายุ 4-5 ปี)

เด็กในวัยนี้จะเริ่มมีพัฒนาการและความพร้อมที่มากขึ้น เด็กสามารถที่จะใช้กล้ามเนื้อมือหยิบจับกรรไกรได้คล่องและพัฒนาการใช้กรรไกรได้ดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถบังคับกล้ามเนื้อมือได้อย่างคล่องแคล่ว ผู้ปกครองและคุณครูอาจเพิ่มความยากในการตัดกระดาษขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยการให้เด็กใช้กรรไกรตัดกระดาษให้อยู่ในแนวเส้นตรงที่กำหนดให้

  • อนุบาล 3 (อายุ 5-6 ปี )

เด็กในวัยนี้มีความสามารถและมีความพร้อมในการใช้กล้ามเนื้อมือให้ประสานสัมพันธ์กับตาได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้น ผู้ปกครองและคุณครูสามารถฝึกเด็กในการใช้กรรไกรตัดกระดาษในแบบเส้นโค้ง ซิกแซก สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ฯลฯ หรือตามเส้นที่กำหนดให้ได้ การเพิ่มระดับความยาก-ง่าย ขึ้นอยู่กับพัฒนาการและความพร้อมของเด็ก

การเลือกซื้อกรรไกรให้เหมาะสมกับเด็ก

ในการเลือกซื้อกรรไกรให้เหมาะสมกับเด็ก ผู้ปกครองและคุณครูควรเลือกซื้อกรรไกรที่มีปลายมน เพราะถ้าใช้กรรไกรแบบปกติ ปลายแหลมของกรรไกรอาจทำให้เกิดอันตรายกับเด็กได้ และที่สำคัญขนาดของช่องตรงด้ามจับต้องมีขนาดที่พอดีกับนิ้วมือของเด็กด้วย

สิ่งสำคัญในการตัดกระดาษ คือความปลอดภัย ผู้ปกครองและคุณครูต้องคอยดูแลเด็กตลอดเวลา ทุกครั้งที่ใช้กรรไกร และควรให้เด็กหันปลายกรรไกรออกจากตัวเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากกรรไกร

การใช้กรรไกรตัดกระดาษค่อนข้างเป็นกิจกรรมที่ท้าทายความสามารถของเด็กปฐมวัยเป็นอย่างมาก เพราะในขั้นเริ่มต้นนั้นนอกจากเด็กจะต้องฝึกหัดการจับกรรไกรแล้วเด็กยังต้องออกแรงในการขยับนิ้วเข้าหากัน เพื่อให้กรรไกรสามารถตัดกระดาษออกได้ (การขยับนิ้วในแต่ละครั้งจะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมือเด็กให้แข็งแรงมากขึ้น) และเมื่อไรที่เด็กสามารถใช้กรรไกรตัดกระดาษได้ เด็กก็จะรู้สึกสนุกและเกิดความภูมิใจในตัวเอง

การใช้กรรไกร

เคล็ดลับสอนลูกในการใช้กรรไกร

  • เมื่อลูกเข้าสู่วัย 3 ขวบ เริ่มการใช้กรรไกรที่ไม่คมมากได้แล้ว โดยสังเกตว่าหากลูกมีทักษะทางร่างกายที่พร้อม เช่น ปั้นแป้งโดได้ จับดินสอได้ ก็เริ่มสอนได้เลย
  • เลือกของคุณภาพดี อุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นน่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง กรรไกรที่มีลวดลาย สีสันสวยงาม ติดสปริง ที่จับกว้าง มีที่วางนิ้วได้ 3 นิ้ว เหมาะกับการใช้งานของมือเล็กๆ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้แบบนี้เท่านั้น ใช้กรรไกรธรรมดาก็ได้ แน่นอนว่าถ้าลูกถนัดซ้ายก็ต้องใช้กรรไกรแบบเฉพาะด้วย
  • ลองตัดสั้นๆ ลูกอาจจะยังตัดเป็นเส้นตรงยาวๆ ในการใช้กรรไกรตอนเริ่มแรกไม่ได้ ลองให้ลูกตัดเพียงขอบกระดาษสั้นๆ ดูก่อน หรือช่วยจับกระดาษชิ้นเล็กให้ลูกตัดเป็นสองส่วน
  • มีเส้น เล่นง่ายๆ เมื่อลูกเรียนรู้วิธีจับกรรไกร (ซึ่งอาจจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี) และค่อยๆ ถนัดขึ้นเรื่อยๆ ลองวาดเส้นตรง เส้นโค้งหรือเส้นแบบอื่นๆ ให้ลูกตัดตาม ฝึกใช้สม่ำเสมอ ใครจะรู้ว่าในอนาคตเขาอาจจะเป็นนักประดิษฐ์คอลลาจอันโด่งดังก็ได้

ขั้นตอนการใช้กรรไกรตัดกระดาษ

  1. ให้เด็กใช้มือข้างที่ถนัดถือกรรไกร วิธีการหาข้างที่ถนัดของเด็กนั้น คือเอากรรไกรยื่นให้ตรงกลาง แล้วเด็กจะใช้มือข้างที่ถนัดออกมาจับกรรไกรเอง
  2. เริ่มแรกพ่อแม่อาจจะต้องจับกระดาษให้ก่อน เพราะการให้เด็กใช้ทั้งสองมือเลยนั้นอาจจะยากเกินไปในช่วงแรก ให้เด็กฝึกการใช้กรรไกรโดยอ้าและหุบกรรไกรด้วยมือข้างที่ถนัดก่อน ถ้าสังเกตุว่าการใช้กรรไกรยากสำหรับลูกมาก จนลูกหงุดหงิด ให้เปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่น ที่ใช้การอ้าและหุบเหมือนกรรไกรก่อน เช่น เล่นเกมใช้คีมหนีบของเล่นแข่งกัน หรือใช้ที่เจาะกระดาษเจาะกระดาษเล่นดู
  3. วิธีการจับกรรไกร จะใช้สองนิ้ว นิ้วโป้งและนิ้วกลาง แต่ถ้าเด็กนิ้วเล็ก สามารถใส่นิ้วชี้ลงไปรวมกับนิ้วกลางได้
  4. การใช้กรรไกรเวลาตัด นิ้วโป้งต้องอยู่ข้างบนเสมอ สามารถเอาสติกเกอร์มาติดที่เล็บนิ้วโป้ง หรือเอาปากกาเมจิควาดรูปยิ้มไว้ และบอกลูกว่าต้องเห็นหน้ายิ้มตลอดเวลา
  5. มือที่จับกรรไกรจะไม่หมุนเปลี่ยนทิศไปมา มือที่จับกระดาษจะหมุนแทน ปลายกรรไกรหันพุ่งออกจากตัวไปด้านหน้าเสมอ

สร้างสรรค์ผลงานลูกน้อยด้วยการใช้กรรไกร

นอกจากการใช้กรรไกรตัดกระดาษแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วัสดุอุปกรณ์อื่นๆ มาให้ลูกตัดได้ เช่น หลอด แป้งโดว์ และคุณพ่อคุณแม่ยังสามารถสร้างสรรค์ผลงานจากการตัดกระดาษของลูกให้ดูสวยงามเพิ่มขึ้น เพื่อให้ลูกรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ และยังได้ฝึกให้ลูกใช้อุปกรณ์อื่นๆ ได้อีกด้วย ดังนี้

  • ง งู ตัวยาว

ใช้แป้งอเนกประสงค์ผสมน้ำปั้นเป็นแท่งยาวๆ และให้ลูกฝึกตัดเป็นท่อนเล็กๆ

  • ฝึกตัด ฝึกเล็ม

ฝึกตัดขอบของกระดาษลวดลายสวยๆ ทำเป็นพรมรองนั่ง หรือนำขอบมาทำเป็นมงกุฎก็ได้นะ

  • คอลลาจสไตล์หนูเอง

ให้ลูกใช้กรรไกรตัดกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าๆ เป็นชิ้นเล็กๆ (เลือกที่มีรูปสวยๆ หรือสีสันหลากหลาย) จากนั้นใช้กาวแปะตามใจชอบบนกระดาษแข็ง

ประโยชน์ของการใช้กรรไกร

ใครว่าการใช้กรรไกรไม่มีประโยชน์ การใช้กรรไกรเป็นการฝึกทักษะที่สำคัญอย่างหนึ่งเลย

  1. การตัดทำให้กล้ามเนื้อมือและฝ่ามือเล็กๆ ของเด็กแข็งแรง เพราะว่าต้องอ้าและหุบกรรไกรตลอดเวลา ซึ่งกล้ามเนื้อนี้เป็นกล้ามเนื้อเดียวกับที่ใช้เขียนและระบายสี หรือจับ เช่น ถ้าเด็กจะจับแปรงสีฟัน ช้อน ส้อม หรือถอดกางเกงเอง
  2. พัฒนาการทำงานระหว่างตาและมือให้สัมพันธ์กัน หมายความว่าเด็กจะต้องใช้ตาคำนวนตำแหน่งหลังจากนั้นก็ขยับมือไปด้วย ซึ่งอาจเป็นทักษะที่ยากเพราะว่าสมองจะต้องทำงานทั้งสองระบบ แต่เป็นทักษะสำคัญที่เด็กๆ ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ถ้าจะขว้างบอลหรือรับบอล ตักอาหารเข้าปาก รูดซิป
  3. เป็นการฝึกใช้มือสองข้างพร้อมๆ กัน ทำสิ่งที่ต่างกัน เพราะเวลาตัด เด็กจะต้องจับกระดาษมือหนึ่งและอีกมือหนึ่งตัด
  4. ฝึกสมาธิ เพราะการตัดกระดาษ เด็กจะต้องมีสมาธิอยู่กับการเล็งกรรไกร และการจับกระดาษ การที่เด็กมีความแน่วแน่จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ช่วยทำให้ลูกมีสมาธิได้

ทักษะการตัดของเด็กแต่ละอายุที่เหมาะสม

ช่วงอายุของลูกนั้นสัมพันธ์กับการใช้กรรไกรด้วย แน่นอนว่าเด็กอายุ 2-3 ขวบ จะยังไม่สามารถใช้กรรไกรได้คล่อง และอาจจะต้องใช้เวลาเป็นปี ในการฝึกทักษะการใช้กรรไกร เด็กแต่ละคนซึ่งอาจจะมีพัฒนาการไม่เหมือนกัน ดังนั้น เกณฑ์ที่จะกล่าวดังต่อไปนี้ ไม่ได้เป็นเกณฑ์ที่จะนำมาตัดสินว่าอายุเท่านี้ จะต้องตัดกระดาษแบบนี้ได้ เกณฑ์นี้เป็นเพียงการวัดคร่าวๆ เท่านั้น

  • 2 ขวบ ตัดปลายกระดาษได้
  • 2 ขวบครึ่ง ตัดกระดาษจนสุดแผ่นได้
  • 3 ถึง 3 ขวบครึ่ง ตัดตามเส้นที่หนาประมาณ 1 เซนติเมตรได้ โดยออกนอกเส้นไม่เกิน 3 ครั้ง
  • 3 ขวบครึ่งถึง 4 ขวบ ตัดวงกลมตามเส้นได้ โดยตัดใกล้เส้นถึง 3 ใน 4 ของวงกลม
  • 4 ขวบครึ่งถึง 5 ขวบ ตัดรูปสี่เหลี่ยมได้ โดยที่มุมควรจะแหลม

 

เมื่อไหร่ที่เด็กตัดผ่านในแต่ละขั้น ควรจะให้เด็กลองตัดอย่างอื่นดูด้วย เช่น ตัดกระดาษที่แข็งขึ้น หนาขึ้นหรือบางลงเช่นทิชชู่ ตัดดินน้ำมัน เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กสามารถตัดได้ช่ำชองและการใช้กรรไกรได้อย่างปลอดภัย

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเด็ก

ที่มาของบทความ

 

ติดตามอ่านเรื่องเกี่ยวกับเด็กได้ที่  jwanmuradclinic.com

สนับสนุนโดย  ufabet369